Willkommen bei Thailand online. Welcome to Thailand online. Information about Thai New Year in Thai language.

Thailand online: Thai Section: Thai New Year



Book Description
Thailand's cultural heritage is rich with holidays and festivals. Religious, royal, and agricultural holidays and cultural festivals all contribute to a kaleidoscope of colorful activities that have long captured the hearts of the local people as well as the interest of visitors. This beautifully illustrated book discusses the reasons for observing the various festivals, their origins and legends, and the location and time of year at which each takes place. Gerson shows throughout how, in Thailand, religion and culture are intertwined.
© 1996-2005, Amazon.com, Inc. or its affiliates
From Book News, Inc.
Ringis, who spent 14 years working with the National Museum in Bangkok surveys a wide range of elephant lore including ancient sacred and secular writings, early travellers tales by Europeans, and recent diplomatic correspondence with the West. She also explains the religious, artistic, and literary role of both real and mythical elephants in Thailand; the characteristics and behavior of the animals themselves; elusive wild herds and white elephants and hunting, and training and working them. Well illustrated, including 28 color plates. Includes a glossary without pronunciation. Annotation c. by Book News, Inc., Portland, Or.

Book Description
This beautifully illustrated book surveys a wide range of elephant lore in Thailand, past and present. It looks at the religious, artistic, and literary background to Thai attitudes toward the elephant and assesses the role of the elephant in present-day Thai life.
© 1996-2005, Amazon.com, Inc. or its affiliates

วัน งาน ของ ประเทศ ไทย

เรื่อง วันสงกรานต์

สงกรานต์ แปลว่า การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ (เดือนเมษายน) นักขัตฤกษ์เนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่าของไทย ซึ่งกำหนดตามสุริยคติตกวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน ตามปรกติสงกรานต์เป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตย่างขึ้นปีใหม่ เรียกว่ารับปีใหม่

วันปีใหม่ คือวันมหาสงกรานต์ได้แก่วันที่ ๑๓ เมษายน วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา คือวันพักผ่อนหรือทำบุญ วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระยาวัน คือวันขึ้นศักราชใหม่

ปี ๑๒ นักษัตร

โบราณบอกปีเป็นชื่อตาม ๑๒ นักษัตร คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น จำได้ง่ายดี เพราะใช้จำกัดอยู่ได้เพียง ๑๒ เทานั้น ถ้าจะให้จำศักราชคงจำยาก ถ้าจะไปถามคนเก่า ๆ ว่าเกิดปีอะไร เขาก็จะบอกชื่อตามปีเกิดนักษัตรของปีนั้นทุกคน ที่จะบอกว่าเกิดศักราชนั้น ๆ ไม่มีเลย นอกจากโหร การนับปีแบบนักษัตรนี้เป็นของคนโบราณนับ มีด้วยกันหลายประเทศ เช่า จีน ณี่ปุ่น เขมร เป็นต้น แม้ทางศาสนาก็นับปีตาม

๑๒ นักษัตร เช่น มูสิกสังวัจฉระ (ชวด) อุสภสังวัจฉระ (ฉลู) พยัคฆวัจฉระ (ขาล) เป็นต้น อนึ่ง ควรทราบไว้ด้วยว่าคำว่า นักษัตรนั้น หมายถึง รอบเวลากำหนด ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ อย่างที่เราใช้ว่าทำบุญอายุ ๕ รอบ ๖ รอบ เป็นต้น อายุ ๕ รอบ ก็คือ ๑๒ ปี ๕ หน ก็เป็น ๖๐ อายุ ๖ รอบก็คือ ๑๒ ปี ๖ หน เป็น ๗๒

ทำไมจึงใช้สัตว์ต่าง ๆ เป็นชื่อปี เช่น ชวด (หนู) ฉลู (วัว) เถาะ (กระต่าย) เป็นต้น เข้าใจว่าคงจะหมายถึงดาวฤกษ์ เพราะคำว่านักษัตร ก็แปลว่าดาวหรือดาวฤกษ์ เช่น ชวดนักษัตรก็คือดาวฤกษ์หน ฉลูนักษัตรก็คือดาวฤกษ์วัว เถาะนักษัตรก็คือดาวฤกษ์กระต่าย เป็นต้น และทำไมจึงใช้ ชวด ฉลู ไม่ใช้ว่า หนู วัว กระต่าย อาจจะเป็นเพราะเราไปนำภาษาเขมรมาใช้ก็ได้ จะได้เทียบคำไทยกับเขมรและจีนให้เห็น

ไทย เขมร จีนฮกเกี้ยน

ชวด จู๊ด ชื้อ

ฉลู เฉล็อว หง

ขาล ขาล ฮ้อ

เถาะ เถาะส์ ถ่อ

มะโรง โรง เหล็ง

มะเส็ง มะซัญ จั๋ว

มะเมีย มะมี เบ๊

มะแม มะแม อิ๋ว

วอก โว้ก เก๋า

ระกา ระกา โก้ย

จอ จอ เก๊า

กุน โกร์ ตื๊อ

ท้าวกบิลพรหม

ขอ ย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องสงกรานต์ใหม่ เรื่องของสงกรานต์นี้ปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนว่าเศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นได้เข้าไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่า เหตุไรจึงมาหมิ่นประมาทเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วก็จะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีมีความละอาย จึงบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึง ๓ ปี ก็ไม่มีบุตร

อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปที่ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีฝูงนกอาศัยอยู่ ได้เอาข้าวสารล้างน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชา พระไทร ประโคมพิณพาทย์ ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรมีความสงสารเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์ได้ให้ธรรมบาลเทพบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อภรรยาเศรษฐีตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว ได้คลอดบุตรออกมาเป็นชายให้ชื่อว่าธรรมบาลกุมารและปลูกปราสาท ๗ ชั้น ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้นให้ธรรมบาลกุมารอยู่ ธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์

ในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวกบิลพรหม องค์หนึ่งว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นมีว่า

ข้อ ๑ เช้าราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๒ เที่ยงราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๓ ค่ำราศีอยู่แห่งใด

ธรรมบาลกุมารขอผัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ออก นึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมแล้ว หนีดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล บนต้นตาลนั้นมีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่ พอตกค่ำนางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหน นกอินทรีสามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่า เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีบอกว่า ปัญหามีอยู่ ๓ ข้อ ข้อ ๑ เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๒ เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๓ ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงล้างหน้าในตอนเช้า เที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงล้างเท้าก่อนนอน

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปที่ปราสาท ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าเราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะทิ้งไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแล้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้น เอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูนาดลงมาล้างในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์ นางธิดา ๗ องค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลหาพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลกที่จารึกในวัดพระเซตุพนมีใจความดังกล่าวมานี้

ลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า ตัวสงกรานต์หรือนางสงกรานต์ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กัน และมีดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะประจำต่างกันด้วย การที่ตัวสงกรานต์

หรือนางสงกรานต์มีชื่อต่าง ๆ กัน และอื่น ๆ ต่างกันเขามีเกณฑ์ดังนี้ ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์คือวันที่ ๑๓ เมษายน ตรงกับวันอะไรก็เป็นหน้าที่ของนางสงกรานต์ชื่อนั้น ดอกไม้เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์พาหนะอย่างนั้น ๆ ประจำตัวนางสงกรานต์

นางสงกรานต์ทั้งเจ็ดนี้ก็ผลัดกันมาเป็นประจำปี สุดแต่ว่าจะตรงกับวันของใคร พาหนะที่นางสงกรานต์ใช้นั้น ขี่มาบ้าง นอนมาบนหลังบ้าง ยืนมาบนหลังบ้าง ตามที่ปรากฏในประกาศสงกรานต์ว่า เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาบนหลังพยัคฆ์ (สือ) เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาบนหลังวราหะ (หมู) เสด็จยืนมาบนหลังคชา (ช้าง) เป็นต้น การทรงพาหนะของนางสงกรานต์มีอาการต่าง ๆ กันเช่น ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง หลับบ้าง ลืมตาบ้างนี้ เกี่ยวกับเวลาที่มา ถ้ามาตอนเช้าสาย ๆ ก็ยืนมาบนหลังพาหนะ ถ้ามาตอนบ่ายก็นั่งหรือขี่ ถ้ามาตอนค่ำยังไม่เลยเที่ยงคืน ก็นอนลืมตามา ถ้ามาตอนดึกเลยเที่ยงไปแล้ว ก็นอนหลับตามา กำหนดท่าที่นางสงกรานต์ทรงพาหนะมาเป็น ๔ ท่า คือ ยืน นั่ง นอน ลืมตา นอนหลับตา เพื่อให้ตรงกับเวลาที่นางสงกรานต์มา เรื่องเวลานั้นมีปรากฏในประกาศสงกรานต์ทุกปี เป็นเรื่องของโหร เขาคำนวณดู อย่างเช่นประกาศมหาสงกรานต์ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่า

มหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ เมษายน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๒ นาที ๑๒ วินาที นางสงกรานต์ชื่อกิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา ประดับอาภรณ์ล้วนแล้วไปด้วยแก้วมรกต พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน ภักษาหารถั่ว งา เสด็จยืนมาเหนือหลังคชา (ช้าง) เป็นพาหนะ

คนแต่ก่อนถือกันนักเรื่องตัวสงกรานต์ เช่น เมื่อจะถึงวันสงกรานต์ก็ถามกันว่าปีนี้สงกรานต์กินอะไร ถืออะไร หรือมีอาการอย่างไร ผู้ตอบก็บอกไปตามปฏิทิน ถ้าปีใดสงกรานต์กินถั่ว กินงา ก็ว่าปีนี้ข้าวปลาจะบริบูรณ์ ถ้าปีใดกินเลือดก็พากันสั่นหัวดิก ๆ ไป ปากก็บ่นว่าปีนี้จะตีกันหัวร้างข้างแตก ถ้าปีใดถือปืนก็ว่าปีนั้นฟ้าจะคะนอง ถ้าหลับตาคนมักจะเป็นตาแดงกันมาก ถือกันดังนี้เป็นมั่นเป็นเหมาะแทบทุกคน ก็ดีไปอย่างหนึ่ง ถ้าปีไหนร้ายเช่นหัวร้างข้างแตก เลือดตกยางออก หรือเป็นตาแดงก็จะได้คิดระมัดระวังตัวไม่ให้มีเรื่องไม่ดีทะเลาะวิวาทกัน หรือคอยหาวิธีป้องกันไม่ให้เป็นตาแดงขึ้นได้ ถืออย่างนี้ดีกว่าไม่ถือเสียเลย

นาคให้น้ำ

อนึ่ง ตามประกาศสงกรานต์ยังมีเกี่ยวกับปี นั้น ๆ วันไหนเป็นอธิบดีและเกณฑ์นาคให้น้ำกี่ตัว เขามีหลัก

เกณฑ์ดังต่อไปนี้

ถ้าจะหาวันอธิบดีให้เอา พ.ศ. ตั้ง เอา๗ หาร เหลือเศษเท่าใด เศษนั้นเป็นวันอธิบดี ถ้าเป็นเศษ ๑ ก็เป็นวันอาทิตย์ ถ้าเป็นเศษ ๒ ก็เป็นวันจันทร์ ถ้าเป็นเศษ ๖ ก็เป็นวันศุกร์ ถ้าไม่มีเศษก็เป็นวันเสาร์ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เอา ๗ หาร จะเหลือเศษ ๒ วันอธิบดีก็เป็นวันจันทร์ เรื่องนาคในน้ำอีกตัวในปีนั้น ๆ เขามีเกณฑ์คือ เอาเศษที่เหลือจากการหารด้วย ๗ มาตั้ง แล้วคูณด้วย ๕ บวกด้วย ๓ และหารด้วย ๗ เช่นใน พ.ศ. ๒๕๑๕ หารด้วย ๗ มีเศษ ๒ เอา ๒ คูณด้วย ๕ ได้ ๑๐ บวกด้วย ๓ เป็น ๑๓ หารด้วย ๗ เหลือเศษ ๖ ฉะนั้นในปี ๒๕๑๕ จึงมีนาคในน้ำ ๖ ตัว เมื่อได้ความอย่างนี้ก็พอจะค้นหาให้ทราบถึงวันอื่น ๆ ได้ ขอให้ค้นหาปฏิทินอย่างเก่าดูหลาย ๆ ปี ก็จะทราบได้อย่างดี

เรื่องนาคในน้ำนี้มีตั้งแต่ตัวเดียวถึง ๗ ตัว เป็นอย่างมาก ถ้าปีไหนนาคให้น้ำตัวเดียว ปีนั้นฝนจะอุดมสมบูรณ์ ปีไหนนาคในน้ำมากกว่า ๑ ตัว ฝนจะน้อย ที่เป็นดังนี้เพราะ นาคให้น้ำตัวเดียว ไม่ต้องเกี่ยงกับใครถ้าให้หลายตัวมัวเกี่ยงกัน ที่พูดนี้พูดตามที่เขาว่ามา ยังมีเรื่องเกณฑ์น้ำฝนที่ว่าตกเท่านั้นห่าเท่านี้ห่านั้นมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ถ้าวันอธิบดีเป็นวันอังคาร ฝนตก ๓๐๐ ห่า ถ้าเป็นวันอาทิตย์วันเสาร์ ๔๐๐ ห่า ถ้าเป็นวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี ๕๐๐ ห่า ถ้าเป็นวันพุธหรือวันศุกร์ ๖๐๐ ห่า ถ้าจำนวนรวมเป็นเท่าใด ก็ตกในมนูษยโลกแต่ส่วนเดียว ใน ๑๐ ส่วน เช่าจำนวนรวม แ ๔๐๐ ห่า ก็ตกในมนุษยโลก ๔๐ ห่า เอา ๒ คูณจำนวนนี้ขึ้นไปเป็น ๘๐ ห่า ก็เป็นจำนวนที่ตกในมหาสมุทรถ้าเอา ๓ คูณ ๔ คูณ จากจำนวน ๔๐ ห่า ก็จะเป็น ๑๒๐ ห่า และ ๑๖๐ ห่า ซึ่งเป็นจำนวนที่ตกในป่าหิมพานต์ และในเขาจักรวาลตามลำดับ (คัดจากเทศกาลสงกรานต์ของ

เสฐียรโกเศศ )

การแต่งกายของชาวไทย

ก่อนจะถึงวันสงกรานต์ผู้คนก็เตรียมซื่อหาเครื่องแต่งตัวกันจ้าละหวั่น ดังคำกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ในนิราศเดือนว่า ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท

ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม

สงกรานต์ที่ตรุษที่ไม่มีมอม

ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา

มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง

ดูเพริดพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา

ในเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงนั้น เสฐียรโกเศศได้เขียนไว้ในเทศกาลสงกรานต์ว่า

เครื่องแต่งตัวแต่ก่อนเทาที่ข้าพเจ้าเคยเห็นสมัยเมื่อเป็นเด็ก ถ้าเป็นผู้หญิงก็นุ่งผ้าลายโจงกระเบนและห่มผ้าสีสไบเฉียง และอาจนุ่งสีตามวันที่กำหนดไว้เป็นธรรมเนียม นุ่งห่มอย่างนี้เป็นแต่แบบผู้หญิงชาววัง ซึ่งนิยมกันว่าสวยเก๋ ตลอดจนกิริยามารยาทก็งามน่าดู เป็นอย่างขัดเกลากันมาดีแล้ว เรื่องนุ่งผ้าสีประจำวัน คนแต่ก่อนรู้กันดีว่าวันไหนครวจะใช้สีไหนเพราะถือเป็นประเพณีสืบกันมา ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังมีผู้จำกันได้ แต่เห็นจะน้อยกว่าเก่าในพวกที่เป็นรุ่นใหม่ เพราะไม่ได้นุ่งผ้าสีเป็นปรกติแล้ว เพื่อให้ทราบว่าวันใดใช้สีอะไร จะขอคัดเรื่องนี้จากสวัสดิรักษาของสุนทรภู่มากล่าวไว้ดังนี้

อนึ่ง ภูษาทรงณรงค์รบ

ให้ครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี

วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี

เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล

เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว

จะยืนยาวชันษาสถาผล

อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน

เป็นมงคลขัตติยาไม่ราคี

เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด

กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี

วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี

วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม

วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ

แสนประเสริฐเสี้ยมศึกจะนึกขาม

คำกลอนข้างบนนี้เป็นเรื่องสีเกี่ยวกับพระภูษาผ้า ทรงของพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จออกณรงค์ราชสงคราม

แต่ก็นำเอามาใช้เกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่มตามปรกติด้วยเพราะถือกันว่าเป็นมงคล ด้วยเป็นสีประจำของเทวดาสัปตเคราะห์ ถ้าแต่งตามสีของท่าน ท่านก็ช่วยให้เกิดสวัสดิมงคล แต่ตามปรกติผู้ที่ใช้ไม่ได้นึกอะไร เมื่อถือกันเป็นประเพณีอย่างนั้นก็ทำตาม ๆ กันมาอย่างนั้นเพื่อไม่ให้ขัดกับประเพณีเท่านั้น ถึงไม่ทำตามนี้ก็ไม่มีใครว่าอะไร เรื่องกำหนดสีเป็นประจำวัน ข้าพเจ้าเห็นว่ามีระเบียบงามดีไม่ลักลั่นเป็นสีต่าง ๆ อย่างเสื้อของสมัยนั้

(คัดจากเรื่องเทศกาลสงกรานต์ของเสฐียรโกเศศ)

 

การแต่งตัวในวันสงกรานต์ ก็เพื่อให้เหมาะสมกับที่ถือกันว่า สงกรานต์เป็นปีใหม่ อายุใหม่ จึงควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ เพราะจะทำให้สบายใจ และประกวดประขันในการแต่งตัว ดังที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเดือนว่า ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์

พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน

ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์

นอกจากเตรียมเรื่องเครื่องแต่งกายแล้ว ก็เตรียมมหาของสำหรับทำบุญ เมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็พากันไปทำบุญตามวัดดังที่ว่า

ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส

อภิวาทพุทธรูปในวิหาร

ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์

ดูสคราญเพริดพริ้งทั้งหญิงชาย

ตรุษสงกรานต์

ตรุษสงกรานต์นี้เรามักจะเรียกรวมกันว่า วันตรุษวันสงกรานต์ บ้าง ตรุษสงกรานต์ บ้าง ความจริงตรุษสงกรานต์เป็นสองระยะ ตรุษระยะหนึ่ง สงกรานต์ระยะหนึ่ง

ตรุษ (อ่านว่า ตรุษ หรือตรุด ) แปลว่า ตัดหรือขาด คือตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี เป็นนักขัตฤกษ์เมื่อเวลาสิ้นปี กำหนดเวลาตามจันทรคติคือวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสิ้นปีเก่า พิธีตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่าปีเก่า

พิธีตรุษนี้เป็นพิธีของพวกอินเดียฝ่ายใต้ เมื่อพวกทมิฬได้ครองเมืองลังกา ได้เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง จึงเป็นเหตุให้มีพิธีตรุษขึ้นในเมืองลังกา ต่อมาเมื่อชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นใหญ่ขึ้นในลังกาทวีปได้คิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขพิธีตรุษให้มาเป็นพิธีทางคติพระพุทธศาสนา คือเมื่อถึงวันตรุษเขาก็จัดเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยเป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่ นิมนต์พระสงฆ์มาสวด ๓วัน คือ วันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน๔ และขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เพื่อขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข คำสวดทั้งหมดเป็นภาษาลังกา

ไทยเราได้ตำราตรุษที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตาม พิธีตรุษจึงมามีขึ้นในเมืองไทย

พิธีตรุษในสมัยสุโขทัย ได้ทำกันอย่างไรและถือเป็นเรื่องสำคัญในสมัยนั้น และสมัยต่อมาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น พูดถึงพิธีต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีตรุษอยู่ข้างจะเรื่องมากกว่าทุกพิธี เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาสวดอาฏานาฏิยสูตรตลอดคืนยังรุ่งในพระบรมมหาราชวัง และผู้ที่อยู่ในพิธีต้องสวมมงคลพิสมร (เครื่องรางชนิดหนึ่งรูปสี่เหลี่ยมร้อยสายสำหรับป้องกันอันตราย) และถือกระบองเพชร ( ใบตาลที่ขมวดปลายลงอักขระสำหรับใช้ในพิธีตรุษและโกนจุก)

การที่ให้มีสวดอาฏานาฏิยสูตรนั้นประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตราแก่มนุษย์ทั่วราชอาณาเขตตามพระบรมพุทธานุญาต การที่ให้สวดมงคลพิสมรและถือกระบองเพชรนั้น เพื่อให้ทราบว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในพิธีหรือให้แลเห็นว่าสิ่งอันเป็นมงคล ซึ่งเกิดขึ้นด้วยคุณพระปริตรที่พระสงฆ์สวดนั้นตั้งอยู่ในตัวผู้นั้นแล้วแต่กลับมีผู้เข้าใจกันไปว่า การที่พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยสูตร หรือภาณยักษ์ภาณพระนั้น เป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำให้ผีวิ่งจนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่นอนในเรือนสำหรับให้ผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือนที่ตกใจปืนเที่ยววิ่งจนปากแตกสีข้างหักจะได้หยิบทา แล้วทำต้นไม้ผูกของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ มีกระบอกเล็ก ๆ กรอกน้ำแขวนกับกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ (ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีกระบอกน้ำเล็ก ๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ที่ทำขึ้นแล้วผูกไว้ที่บันไดเรือนใช้ในพิธีตรุษ) สำหรับผีที่วิ่งไปมาเหน็ดเหนื่อยเขาจะได้หยิบกิน ทั้งห้ามถ่ายอุจาระปัสสาวะลงทางร่องด้วยเข้าใจว่าจะไปแปดเปื้อนผีที่วิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุน บางคนถึงกับร้องไห้สงสารผีที่ตัวรักใคร่ก็มี ในเรื่องสวมมงคลพิสมรก็กลับถือกันไปว่า ถ้าไม่สวม ผีจะวิ่งมาโดนหกล้ม หรือมาหลอกเอาจะทำให้ป่วยไข้ไปต่าง ๆ ถือกันมาจนถึงอย่างนี้ จึงว่าพิธีตรุษเรื่องมากกว่าทุกพิธีแต่เดี๋ยวนี้เรื่องมากอย่างนั้นไม่มีแล้ว จะมากอยู่แต่การทำบุญ การสนุกสนานรื่นเริง การพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งยังนิยมกันอยู่ตามชนบท แต่ในตัวเมืองนั้นชักจะเลือน ๆ หรือหายไปเลยเพราะไปสนใจอยู่แต่ตรุษจีน ตรุษฝรั่ง ตรุษไทยเราไม่ค่อยสนใจอยากจะบอกว่าตรุษไทยเรานั้นมีความสำคัญเกี่ยวกับชีวิตของเราที่ได้ผ่านพ้นมาในรอบปี หรือผ่านมา ๓๖๕ วัน

ความจริงเวลาที่ล่วงไปนั้นย่อมมีความสำคัญมากเพราะเป็นทางให้สำรวจดูตัวเราว่าเวลาที่ล่วงไปนั้นเราทำอะไรไปบ้าง ดีอย่างไร ชั่วอย่างไร จะได้รู้กันเช่นเดียวกับการงบบัญชีประจำเดือนหรือประจำปีจะได้รู้ว่าขาดทุนหรือได้กำไรเท่าไร รายรับรายจ่ายพอดีกันหรือไม่ถ้ารายจ่ายมากก็จะได้หาทางตัดลงไป ถ้ารายได้มากก็จะได้ขยายกิจการให้กว้างขวางต่อไป ดังนี้เป็นต้นฉันใดอันเวลาที่ล่วงไปสำหรับชีวิตที่ผ่านพ้นไปวันหนึ่งเดือนหนึ่งปี ว่าทำอะไรลงไปบ้าง วันที่แล้วเดือนที่แล้วปีที่แล้วเราได้ทำคุณงามความดีอะไรอันเป็นประโยชน์แก่คนแก่หมู่คณะ แก่ประเทศชาติไว้บ้าง หากได้ทำไว้ก็จะเป็นปลื้มปีติโสมนัส เพิ่มพูนกำลังใจให้ทำดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป เท่ากับได้กำไรงาม ๆ แล้ว หรือว่าในปีที่แล้วมาเราได้ทำชั่วอะไรไว้บ้าง จะได้ปรับปรุงตัวให้พ้นจากความชั่วร้าย ทำชีวิตให้เป็นของใหม่ขึ้น ถ้ายังขืนปล่อยให้จิตใจชั่ว ความชั่วร้ายนั้นก็จะประหัตประหารตนเองให้พินาศไป เหมือนสนิมเหล็กที่กัดให้กร่อนไปฉะนั้น

ปีเก่ากอบโทษไว้ เพียงไร

ปีเปลี่ยนเร่งเปลี่ยนใจ จากร้าย

ปีเก่าโทษเก่าไฉน จักกลับ มีเฮย

ปีใหม่ใจใหม่ย้าย ยัดให้ตนเจริญ

( จากโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่รัชกาลที่ ๕ )

ประเพณีที่ปฏิบัติเนื่องในวันสงกรานต์นี้มีอยู่หลายอย่างแล้วแต่ท้องถิ่นไหนจะปฏิบัติกันอย่างไร แต่ก็ไม่พ้นที่จะปฏิบัติกันดังต่อไปนี้ การทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำ รดน้ำดำหัว ปล่อยนกปล่อยปลา สาดน้ำ การรื่นเริงจะได้กล่าวเป็นอย่าง ๆ ไป

การทำบุญตักบาตร

ก่อนจะถึงวันสงกรานต์ก็เตรียมของทำบุญ เช่น กวนขนมหรือกวนกาละแม ถ้าในวันตรุษก็กวนข้าวเหนียวแดง เมื่อกวนเสร็จก็แจกจ่ายกันตามเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง รุ่งขึ้นจะถึงวันสงกรานต์ก็ตื่นแต่เช้า นำอาหารข้าวแกงไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระที่วัด บางคนก็กลับก่อน บางคนก็คอยปรนนิบัติพระจนพระฉันเสร็จแล้วจึงกลับ

การก่อพระเจดีย์ทราย

เรื่องมูลเหตุที่จะมีก่อพระเจดีย์ทรายนี้ เคยได้ยินมาเพียงเลา ๆ สองเรื่องไม่ชัดนัก เรื่องหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปทางเรือขนาน ประชาชนพากันก่อพระทรายข้างลำน้ำและก่อในแพลอยเป็นพุทธบูชา อีกเรื่องหนึ่งว่า มีอุบาสกคนหนึ่งลงเรือแล่นไปในตอนกลางคืน วันนั้นเป็นวันเพ็ญ แสงจันทร์ส่องสว่างระยิบระยับทำให้อุบาสกนึกถึงพระฉัพพรรณรังสี พระรัศมีซึ่งสร้านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า เกิดปีติโสมนัสยึดพระพุทธคุณเป็นอารมร์ จึงจอดเรือที่หาดทรายนำเอาทรายนั้นมาก่อเป็นพุทธบูชา ทั้งสองเรื่องนี้เป็นแต่ฟังมาจากผู้ใหญ่ก็เห็นจะพอนำมาประกอบเข้าเรื่องก่อพระเจดีย์ทรายได้ เพราะทำให้เกิดเป็นเรื่องพุทธบูชาก็ดีแล้ว แต่ทำไมจึงต้องมาก่อกันในวันสงกรานต์ ทั้งนี้ก็สุดแต่จะนิยมกัน

ก่อนก่อพระเจดีย์ทรายก็ต้องปราบดินให้เรียบแล้วขนทรายมาตามความต้องการ เททรายลงในพื้นที่ปราบไว้ดีแล้ว เริ่มตกแต่งทรายให้เป็นรูปเจดีย์ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามความต้องการ เสร็จแล้วก็มีธงประดับ

ความจริงเอาทรายไปก่อตามวัดก็จะได้ประโยชน์ทางวัด เพราะทรายที่นำไปนั้นเมื่อเสร็จแล้วก็ทลายลงเองถมที่ไปในตัว

การปล่อยนกปล่อยปลา

การปล่อยนกปล่อยปลานี้ถือเป็นกุศลอย่างหนึ่งของคนไทย และคนไทยส่วนมากมักมีจิตใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ แต่ทำไมจึงต้องปล่อยเฉพาะนกและปลา สัตว์อื่น ๆ อีกตั้งมากมายทำไมไม่ปล่อยเช่น ไก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น เห็นจะเป็นเพราะนกเป็นสัตว์บินได้ ปลาเป็นสัตว์ว่ายน้ำได้ เมื่อปล่อย นกก็บินไปในอากาศ ปลาก็ว่ายลงไปในน้ำ เมื่อปล่อยไปแล้วทั้งนกทั้งปลาก็หายไปเลย บางครั้งผู้ปล่อยยังอธิษฐานขอให้เคราะห์กรรมต่าง ๆ หายไปพร้อมกับนกและปลา และนกกับปลานี้ก็มีผู้จับเอามาขังไว้แล้วนำมาขาย ส่วนสัตว์ประเภทบกนั้นถึงปล่อยไปก็ยังวนเวียนอยู่ ถ้าจะให้นำเคราะห์กรรมไปด้วยก็คงไปไม่ไกลเดี๋ยวก็กลับมาอีก และสัตว์บกก็ไม่ได้ถูกกักขังเหมือนนกและปลา หรือแม้สัตว์บกบางชนิดถูกขัง เช่น หมู เป็นต้น ถ้าเราปล่อยก็คงไปไม่รอด

ปลาที่ปล่อยนั้น โดยมากก็เป็นลูกปลา เช่น ลูกปลาหมอ เพราะมันอดทนไม่ตายง่าย และควรปล่อยในลำน้ำที่ไหล การปล่อยปลาในบางท้องถิ่นเขามีแห่กันอย่างสนุกสนาน มีหญิงสาวแต่งตัวสวยงามเข้ากระบวนแห่

ทำไมจึงปล่อยนกปล่อยปลากันในวันสงกรานต์ ความจริงจะปล่อยเมื่อไรก็ได้ เช่น ในการทำบุญอายุ ทำบุญวันเกิด เขาก็ปล่อยกัน แต่เป็นเรื่องเฉพาะคน ส่วนที่ปล่อยในวันสงกรานต์นี้ เป็นประเพณีประจำของทุกคนโดยเฉพาะปล่อยปลาวันสงกรานต์เป็นฤดูแล้ง อากาศร้อนน้ำตามลำธาร ตามห้วย ตามบ่อ และตามแอ่งทั่วไปงวดแห้ง เมื่อตอนน้ำมากปลาวางไข่ ลูกปลายังไม่ทันจะโตก็ถึงหน้าน้ำลด ลูกปลาก็ตกค้างอยู่ ถ้าปล่อยไว้จนน้ำแห้งปลาอาจตายหมด อาจจะสูญสิ้นพันธุ์ไปเลยก็ได้ ส่วนปล่อยนกนั้นไม่จำกัดว่าเป็นลูกนกที่บินได้ ถ้าปล่อยลูกนกมันยังตัวเล็กอยู่ ปีกไม่แข็งพอมันก็บินไปไม่ได้ ที่ปล่อยนกในวันสงกรานต์นั้น ยังหาเหตุไม่ได้ นอกจากมันเป็นสัตว์บินได้เพื่อให้คู่กันกับสัตว์ว่ายน้ำได้

การบังสุกุลอัฐิ

คนไทย เป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว ก็ยังนึกถึงท่านอยู่ หาโอกาสที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านเรียกว่าบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุสรณ์ คือทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย เมื่อถึงวันสงกรานต์มักจะเป็นวันท้ายของสงกรานต์ ชาวบ้านที่มีกระดูกของบรรพบุรุษใส่โกศไว้ ก็นำมาตั้งบนศาลาภายในวัด เรียกว่า ตั้งกระดูก หรือตั้งโกศ ถ้าไม่มีกระดูกเก็บไว้ ก็เขียนชื่อใส่พานนำมาตั้งก็ได้ เมื่อตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็นิมนต์พระมาสวดและบังสุกุล บางทีก็มีเทศน์ด้วย

บางรายก็ไปทำตามที่ที่ได้บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษไว้เช่น ใต้ฐานเจดีย์ ใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นต้น เสร็จแล้วก็ทำพิธีสรงน้ำพระ

การสรงน้ำ

ทุกบ้านตามปกติก็มีพระพุทธรูปไว้บูชา เรียกว่าห้องพระหรือหอพระ เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็นำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชาตามสมควร แล้วให้คนในบ้านทั้งหมดมาสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อขอให้เกิดความสุขสวัสดีในบ้านของตน

แต่เดิมทีเดียวตามบ้านอาจไม่มีพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงพากันไปสรงน้ำพระพุทธรูปกันที่วัดในวันสงกรานต์ เป็นการแสดงความสามัคคีในหมู่บ้านของตน เมื่อจะไปสรงน้ำพระพุทธรูปก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาแล้วเอาน้ำหอมประพรมที่องศ์พระ เป็นการแสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่

การสรงน้ำพระพุทธรูป ในบางท้องถิ่นเขาทำเป็นรางท่อน้ำ เทน้ำสรงลงไปในรางให้ไหลตกไปถึงพระพุทธรูป

นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ ชาวบ้านกำหนดวันกันก่อนว่าจะสรงน้ำพระวันไหน แต่โดยมากมักสรงกันวันท้ายสงกรานต์ แต่ก็ไม่แน่ สุดแต่จะนัดหมายกัน เมื่อถึงวันกำหนด ชาวบ้านก็ไปตักน้ำมา แล้วนิมนต์พระสงฆ์ตามที่ตนนับถือหรือทั้งวัดไปยังสถานที่ที่จัดไว้ พอได้เวลาก็สรงน้ำท่าน เมื่อเสร็จแล้วพระก็ให้ศีลให้พร จากนั้นก็เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เปียกปอนกันกลับบ้านด้วยสีหน้าอิ่มเอิบในบุญกุศลและสนุกไปด้วย

การรดน้ำดำหัว

การรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคราพนับถือในวันสงกรานต์เพื่อขอศีลขอพรจากท่าน เมื่อถึงวันกำหนดจะรดน้ำก็เชิญผู้ใหญ่นั่งบนตั่งหรือเก้าอี้ ลูกหลานก็เอาน้ำรดเอาน้ำหอมพรม ท่านก็ให้ศีลให้พร เสร็จแล้วก็จัดผ้านั่งผ้าห่มให้ท่านเปลี่ยน การรดน้ำผู้ใหญ่มักต้องเตรียมผ้าใหม่มาให้ผลัด บางทีเราก็ไปรดน้ำท่านที่บ้านของท่าน

ดำหัว ประเพณีทางภาคเหนือทำกันในวันปีใหม่เพื่อเป็นการแสดงความเคราพนับถือและรักใคร่ วิธีดำหัว เอาสิ่งของและน้ำที่ใส่เครื่องหอมเช่นน้ำอบไทยไปให้แก่ผู้ที่เคราพนับถือและขอให้ท่านรดน้ำใส่หัวของตนเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข

เครื่องดำหัวยังมีอีกอย่างคือน้ำส้มป่อย น้ำส้มป่อยใช้แทนสบู่ สำหรับชำระร่างกาย นำไปให้ผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่รับเครื่องดำหัวแล้วก็เอาน้ำส้มป่อย ประพรมบนศีรษะพอเป็นกิริยาว่าได้ดำหัวสระหัวแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้ศีลให้พรกันตามประเพณี การรดน้ำดำหัวเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ ไม่ใช่ไปให้พรท่าน พรที่ท่านให้ก็มักจะว่า ขอให้มีความสุขความเจริญตลอดปีใหม่

การสาดน้ำ

ประเพณีการสาดน้ำในวันสงกรานต์เห็นจะต้องการสาดน้ำใส่กันเพื่อให้หายร้อน ต่างฝ่ายต่างสาดกันเป็นประเพณีที่สนุกสนานแต่บางทีก็มักจะเกิน ๆ ไป ทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ แต่ประเพณีสาดน้ำดั้งเดิมนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองมากกว่า ไม่มีการถือสาหาความกัน วิธีสาดน้ำก็คือเอาน้ำใส่ขันแล้วสาดออกไปให้ถึงตัวผู้ที่เราสาด แต่เวลานี้ดูเหมือนจะใช้วิธีรดแทนการสาดกันบ้าง ก่อนจะรดน้ำก็เข้าไปขอโทษแล้วก็รดลงบนหลัง ถ้าน้ำที่รดนั้นใส่น้ำแข็งด้วยก็ทำให้ผู้ที่ถูกรดรู้สึกเย็นยะเยือกแล้วแสดงความขอบคุณผู้ที่รด ทำอย่างนั้นสุภาพเรียบร้อยดี

การเล่นรื่นเริง

การเล่นรื่นเริงในวันสงกรานต์ก็มีเล่นสะบ้าช่วงชัย มอญซ่อนผ้า แม่ศรี และอื่น ๆ ทุกอย่างเล่นเพื่อความสามัคคี

การเล่นช่วงชัย หรือช่วงรำ มีลูกช่วงลูกหนึ่งลูกช่วงนั้นใช้ผ้าทำเป็นลูกกลม ๆ ขนาดผลมะตูม วิธีเล่นก็มีหนุ่มสาวยืนห่าง ๆ กัน จำนวนเท่ากัน มากน้อยตามสมควร ฝ่ายใดจะโยนลูกช่วงก่อน แล้วแต่จะตกลงกันหรือโยนหัวโยนก้อยกัน

เมื่อฝ่ายหนึ่งโยนลูกช่วงไป อีกฝ่ายหนึ่งก็รับให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องโยนกลับไปให้อีกฝ่ายหนึ่งรับบ้าง ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องโยนกลับไปอีก ถ้าฝ่ายใดรับได้ก็ขว้างลูกช่วงไปให้ถูกคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายที่ถูกขว้างก็คอยหลบ ถ้าหลบพ้นก็จับลูกช่วงกลับไป ถ้าลูกช่วงถูกใครคนนั้นก็ต้องอยู่กลางวงทุกคนยืนล้อม แล้วร้องบทเพลงพวงมาลัย หรือระบำบ้านไร่ ให้คนที่ถูกล้อมนั้นรำไป ตามจังหวะเพลง เพลงพวงมาลัยนั้นมีว่า

โอ้เจ้าพวงมาลัย ควรหรือจะไปจากห้อง

เจ้าลอยละล่อง เข้าในห้องไหนเอย

ร้องซ้ำ ๆ กันอยู่อย่างนี้ จนคนรำวิ่งเข้าไปหาพวกของตัวแล้วก็เริ่มเล่นกันใหม่

เพลงระบำบ้านไร่ มีเนื้อร้องว่า

ระบำทางไหนเล่าเอย ระบำทางชาวบ้านไร่

มีต้นเสียงร้องแล้วลูกคู่รับอย่างเดียวกัน ต่อไปผู้ชายก็จะร้องว่า

พี่รักน้องมานาน ตั้งแต่ตรุษสงกรานต์ปีกลาย

มีกฏของการเล่นอยู่ว่า ถ้าลูกช่วงไปถูกผู้ใด ผู้นั้นต้องรำ ผลัดเปลี่ยนกันไป เป็นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวมาก

การเล่นเพลงระบำในสมัยโบราณ มีกำหนดว่าแม้ฝ่ายหญิงจะแพ้ก่อนลงมือรำระบำ ฝ่ายชายมักร้องเชิญให้หญิงเล่นตามธรรมเนียมก่อน เมื่อหญิงร้องจบ แล้วชายก็ร้องขึ้นสลับกันไป มีเนื้อร้องดังนี้

ชาย ระบำไหนเอย ระบำดอนเตย

อกของพี่จะช้ำ เสียด้วยคำเขาเย้ย

ระบำดอนเตย เขาก็รำงามเอย

ระบำไหนเอย ระบำวัดหลวง

เห็นสาว ๆ เขาเดินมา ใส่ระย้าตุ้มหูควง

ระบำวัดหลวง เขาก็รำงามเอย

ระบำไหนเอย ระบำฟากข้างโน้น

ถ้าน้องมาอยู่เสียกับพี่ ฉันจะให้ขี่เรือโขน

ระบำฟากข้างโน้น เขาก็รำงามเอย

หญิง ระบำไหนเอย ระบำบ้านกล้วย

รูปร่างอย่างนี้ เผยอจะมีเมียสวย

ระบำบ้านกล้วย เขาก็รำงามเอย

ระบำไหนเอย ระบำโพหัก

ดูยกแขนขึ้นรำ เหมือนหนึ่งด้ามจวัก

ระบำโพหัก เขาก็รำงามเอย

ระบำไหนเอย ระบำวัดโคก

เจ้านุ่งแต่ผ้ายั่นตะนี เจ้าห่มแต่สีดอกโศก

ระบำวัดโคก เขาก็รำงามเอย

การเล่นมอญซ่อนผ้า

ใช้ผ้าทำเป็นเกลียว ผูกปมยาวประมาณ ๑ ศอก หรือกว่านั้นเตรียมไว้ก่อน พอถึงเวลาเล่นก็มีหญิงชายนั่งล้อมวงกัน ให้ใครคนหนึ่งไม่ต้องนั่งถือผ้าซ่อนไว้ข้างหลัง เดินไปรอบ ๆ วง ทุกคนที่นั่งก็ร้องซ้ำ ๆ กันว่า

มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง

ไว้โน้นไว้นี่ เดี๋ยวจะตีก้นพัง

ร้องไปจนกว่าคนที่ถือผ้าจะเอาซ่อนไว้ที่หลังคนใดคนหนึ่งโดยที่ไม่ให้รู้ตัว เมื่อซ่อนผ้าแล้วก็เดินวนไป (การเดินให้เวียนขวา ) จนถึงผู้ที่ถูกซ่อนผ้าแล้วหยิบผ้าขึ้นมาตีคนนั้น คนที่ถูกดีนั่ง ผู้ตีก็เดินติอไปและหาโอกาสซ่อนผ้าอีก คนนั่งทุกคนต้องคอยเอามือคลำข้างหลังไว้เพื่อให้รู้ว่ามีผ้าซ่อนอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็หยิบลุกขึ้นวิ่งไล่ตีคนที่ซ่อนจนกว่าผู้นั้นจะนั่ง การที่ผู้นั่งคอยเอามือคลำข้างหลังตนนั้นก็เพื่อจะได้รู้ว่าเขาซ่อนผ้าไว้หรือเปล่า ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้ซ่อนเขาจะรีบมาหยิบผ้าที่เขาซ่อนไว้ตีเอา

การเล่นสะบ้า

สะบ้า เป็นการเล่นชนิดหนึ่งของคนไทย นิยมเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ และเล่นสะบ้าของแต่ละจังหวัดก็มีลักษณะการเล่นต่าง ๆ กัน แต่ที่เหมือนกันก็คือจัดคนเล่นออกเป็นสองฝ่ายเท่า ๆ กัน มีลูกสะบ้าฝ่ายละ ๑ ลูก ลูกสะบ้ากลมแบนขนาดวัดผ่าศูนย์กลางราว ๖ ซม. ทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ และมีแป้นวางไว้ สำหรับทอยสะบ้า เริ่มเล่นให้ฝ่ายหนึ่งอ๋อย (ทอย) สะบ้าไปทางแป้นอย่าให้เลยแป้น กะให้พอดีที่จะทอยถูก ลูกแรกที่อ๋อยไปเรียกว่า อีอ๋อย ขณะอ๋อยต้องร้องว่า อีอ๋อยเอยลูกต่อไปก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันแล้วแต่จะเอาลูกสะบ้าวางไว้ในส่วนไหนของร่างกาย เช่นวางไว้ที่จมูก ก็ร้องว่า อีจมูกเอย วางไว้ที่ปากก็ว่า อีปากเอย ต่อไปก็มีอีตาตุ่มเอย อีเข่าเอย อีขาไขว้เอย ถ้าทอยไม่ถูกป้ายก็เป็นแพ้ แต่โดยมากทอยกันแม่นมาก ตอนที่สนุกก็คือทอยไม่ถูก การเล่นสะบ้าเป็นการออกกำลังกายได้ดี และเป็นการประสานสามัคคีกันเป็นอย่างดี

ยังมีการรื่นเริงอีกอย่างหนึ่งคือ แต่งดอกไม้ต่างคนต่างนำดอกไม้ไปวัด โดยมากก็เป็นพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เมื่อพร้อมกันดีแล้วก็พากันเข้าไปในโบสถ์แบ่งเป็นสองฝ่าย หญิงฝ่ายหนึ่ง ชายฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายละ ๑๐คนบ้าง ๑๕ คนบ้าง หรือมากกว่านั้นก็มี ทุกคนนั่งประนมมือถือดอกไม้กล่าวคำอธิษฐาน ต่างฝ่ายต่างก็จะมีผู้เป็นต้นบทกล่าวนำ ผู้นำฝ่ายชายเริ่มกล่าวคำอธิษฐานก่อน คำอธิษฐานนั้นว่า พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพานถือพานดอก จะเป็นดอกไม้อะไรก็ได้ ขอให้มีชื่อสัมผัสกับชื่อหญิงที่เราหมายไว้ ซึ่งอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง สมมติว่าสีนวลอยู่ในที่นั้น ก็อธิษฐานว่า พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานดอกลำดวน ทำบุญสิ่งใดหนอจะได้ร่วมหอกับแม่สีนวล แล้วลูกคู่ฝ่ายชายก็ร้องรับว่า พิษฐานวานไหว้ ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย ต่อไปผู้นำ ฝ่ายหญิงก็ร้องว่าพิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานดอกลำดวน ทำบุญเสียให้ตาย ก็คงจะไม่ได้กับแม่สีนวล แล้วลูกคู่หญิงก็ร้องรับว่า พิษฐานวานไหว้ ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย บางทีถ้าผู้ชายที่ร้องก่อนชื่อศักดิ์ ผู้นำฝ่ายหญิงเขาก็ร้องว่า พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานดอกรัก เกิดชาติใดแสนใด ขออย่าให้ได้กับชายชื่อ ศักดิ์

ร้องเพลงอธิษฐานผลัดเปลี่ยนผู้นำกันไปจนหมดเวลา ดูก็เป็นที่สนุกสนานดีไม่มีถือกันในวันนั้น

เมื่อเสร็จแล้วก็นำดอกไม้ไปวางไว้ที่ที่เขาจัดไว้เพื่อบูชาพระ แล้วออกจากโบสถ์มาเล่นสนุกกันที่ลานวัดหรือที่หัวหาดหรือที่ลานบ้าน การเล่นก็มีเพลงพวงมาลัย ระบำบ้านไร่และอื่น ๆ ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น

เรื่องราวของสงกรานต์ก็จบลงเท่านี้



Google


Thailand online: Phab Nüa Thailand online: Chiang Mai Thailand online: Chiang Rai Thailand online: Chiang Saen


Thailand online: Briefkasten/Mailbox

ขอให้คุณเขียนจดหมายมาหาเรา ให้คุณใช้ตู้ไปรษณีย์ได้ที่นี้

NEW: GUESTBOOK

Schreiben Sie an Thailand online! Hier ist der Briefkasten für die Besucher von Thailand online:

Mail to Thailand online! Here is the Mailbox for the visitors of Thailand online:


Diese Seite wurde am 6. Oktober 1996 gestaltet und zuletzt am 16. Mai 2005 aktualisiert.
This page was created on October 6, 1996 and last updated on May 16, 2005.
หน้านี้ได้ทำวันที่ ๖ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และได้เปลื่ยนแปลงใหม่ในวันที่ ๑๖ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

copyright 1996 - 2005 © thailand publications switzerland

Best viewed with Browser Netscape Navigator 7.x and Font AngsanaUPC.